เจนีวา (อังกฤษ: Geneva) นั้นเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (รองจากซูริค) โดยถือว่าเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกมากมายเช่น ทะเลสาบเจนีวา น้ำพุเจ็ทโด้ เป็นต้น เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในภาครอม็องดีอัน เป็นภูมิภาคที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลักในสวิตเซอร์แลนด์ นครเจนีวาตั้งอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโรนซึ่งไหลออกจากทะเลสาบเจนีวา ณ ปัจจุบัน เจนีวามีสถานะเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐแห่งรัฐเจนีวา

ในอดีตเมืองเจนีวาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของโรมัน และฝรั่งเศส แต่เมื่อได้รับอิสรภาพจึงรีบหาพันธมิตรเพราะไม่อยากโดนรุกรานอีก โดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกพันธรัฐสวิส จากนั้นเจนีวาก็รู้จักอย่างกว้างขวางในนาม "เมืองแห่งองค์กรนานาชาติ"

แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์



พิพิธภัณฑ์ Patek Philippe สร้างขึ้นในอาคารอาร์ตเดโค ในพื้นที่ของ Plainpalais  เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เมื่อปี 2001 เพราะความรักและความคลั่งไคล้นาฬิกาของ Philippe Stern พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นที่รวบรวมประวัติการทำนาฬิกาที่มีมานานกว่า 500 ปี

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงนาฬิกาตั้งแต่รุ่นแรกๆ จนถึงรุ่นปัจจุบัน บนพื้นที่การจัดแสดงกว่า 4 ชั้น โดยแต่ละเรือนนั้นไม่ธรรมดา หาดูได้ยาก และบางเรือนแทบไม่สามารถตีออกมาเป็นราคาได้เลย โดยมีไฮไลท์ที่นี่คือ นาฬิกาที่ซับซ้อนมากที่สุดที่เคยทำซึ่งก็คือ "Caliber 89"

ใครที่ชอบนาฬิกายี่ห้อนี้ หรือต้องการสัมผัสความอลังการณ์ของ Patek Philippe ก็ไม่ควรพลาดเลยเมื่อมาเยือนเมืองเจนีวาแห่งนี้ โดยพิพิธภัณฑ์ Patek Philippe มีค่าเข้าชมประมาณ 10 ฟรังก์สวิส หรือประมาณ 350 บาท



มหาวิหารแซงต์ปิแอร์ (Cathedral St.Piere)  เป็นวิหารใหญ่ของเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ของนิกายโปรเตสแตนท์ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1160 (หรือ พ.ศ. 1703 หรือเกือบพันปีมาแล้วเลยทีเดียว) โดยมีต้นแบบจากสไตล์โรมาเนสก์ แต่หลังจากนั้นก็มีการปรับปรุง ซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง

ปัจจุบันกลายเป็นวิหารลูกครึ่ง ที่ผสมผสานด้วยสไตล์โรมาเนสก์ โกธิก และนีโอคลาสสิค เราจึงได้เห็นว่าอาหารมีเสาโรมันค้ำอยู่ ความรุ่งเรืองของวิหารแห่งนี้เกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 เมื่อ John Calvin เข้ามามีบทบาทการเป็นนักปฏิรูปศาสนา และผู้สร้างสถานศึกษาในเมืองเจนีวา โดยในปัจจุบันในวิหารแซงต์ปิแอร์มีของเก้าอี้ของ John Calvin ที่เคยใช่นั่งเป็นประจำ จัดแสดงไว้ให้ชมอีกบริเวณด้านในอีกด้วย

โดยเราสามารถขึ้นบันไดไปด้านบนของมหาวิหาร เพื่อชมเมืองเจนีวาได้อย่างครบถ้วน และสวยงามยิ่งนัก



องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ตัวย่อ UN หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม "ยูเอ็น" เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาทัวร์สวิตเซอร์แลนด์ เพราะถือว่ามีโอกาสได้มาเยือนประวัติศาสตร์ของโลก และน่าเป็นที่ที่เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกอีกด้วย องค์การสหประชาชาติ  เป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีความมุ่งหมายที่แถลงไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือในกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ กระบวนการทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการบรรลุสันติภาพโลก สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแทนที่สันนิบาตชาติ เพื่อยุติสงครามระหว่างประเทศ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการเจรจา สหประชาชาติมีองค์กรจำนวนมากเพื่อนำภารกิจไปปฏิบัติ

องค์การสหประชาชาตินั้นมีสมาชิกทั้งหมดถึง 193 ประเทศ ระบบสหประชาชาติอยู่บนพื้นฐานของ 6 เสาหลัก ได้แก่ สมัชชาใหญ่ คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม สำนักเลขาธิการ และ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ รวมถึงคณะมนตรีภาวะทรัสตี (ปัจจุบันยุติการทำงานแล้ว) นอกจากนี้ยังมีองค์กรอื่น ๆ อีกเช่น องค์การอนามัยโลก ยูเนสโก และยูนิเซฟ ตำแหน่งที่โดดเด่นที่สุดของสหประชาชาติ คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งคนปัจจุบัน คือ อังตอนีอู กูแตรึช ชาวโปรตุเกส ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017 ต่อจาก พัน กี-มุน ชาวเกาหลีใต้

องค์การสหประชาชาติ (United Nations)  มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเจนีวาสวิตเซอร์แลนด์ เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้มีการตั้งองค์การสันนิบาตแห่งชาติ (League of Nations) เมื่อปี ค.ศ.1920 หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และก็ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงใช้สำนักงานเป็นสำนักงานใหญ่ประจำยุโรป และใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของหน่วยย่อยต่างๆขององค์การสหประชาชาติ อาทิเช่น องค์การอนามัยโลก (WTO) องค์การการค้าโลก (WTO) และอีกต่างๆมากมาย ทำให้เวลามีการจัดงานประชุม หรือจัดเลี้ยงต่างๆ ก็มีผลทำให้เศรษฐกิจของเมืองเจนีวานั้นคึกคักขึ้นอีกด้วย

เราสามารถเข้าเยี่ยมชมองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ด้วย โดยเสียค่าเข้าประมาณ 12 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 400 บาท) โดยเปิดให้ชมทั้งปี เป็นรอบๆไป ก็จะมีการพาชมห้องต่างๆพร้อมกับอธิบายประวัติอีกด้วย