มหาวิทยาลัยโลซาน (ฝรั่งเศส: Université de Lausanne) หรือ UNIL ถ้าพูดถึงการมาทัวร์สวิตเซอร์แลนด์นั้น อีกสถานที่หนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ของไทยอย่างมาก มหาวิทยาลัยโลซานตั้งอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1537 ในฐานะโรงเรียนเทววิทยา และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในปี ค.ศ. 1890 ปัจจุบันมีนักศึกษา 13,500 คน และนักวิจัย 2,200 คน เข้าศึกษาและทำงานในมหาวิทยาลัย และนักศึกษาต่างชาติประมาณ 1,500 คน จาก 120 เชื้อชาติ เข้าศึกษาในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งมีโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกต่าง ๆ

โดยมีอาคารที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงตั้งตระหง่านอยู่ นั่นคือ Palais de Rumine อาคารนีโอคลาสสิคขนาดใหญ่ สร้างติดกับจุตรัสริปอนน์ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1892 เพื่อใช้เป็นมหาวิทยาลัยโลซาน ต่อมาเมื่อปี ค.ศ.1980 ได้ย้ายที่ตั้งไปชานเมือง อาหารแห่งนี้จึงเปลี่ยนเป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยและแบ่งพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ห้าแห่งของรัฐ ได้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Cantonal Meseum of Fine Arts), พิพิธภัณฑ์โบราณคดี และประวัติศาสตร์ (Cantonal Museum of Archeology and History), พิพิธภัณฑ์เงินตรา (Cantonal Museum of Money), พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา (Cantonal Museum of Geology) และ พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับชีวิตสัตว์ (Cantonal Museum of Zoology)

เมื่อครั้งที่ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโลซาน สมเด็จพระพี่นางฯ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงสำเร็จการศึกษาจากที่นี่ โดยสมเด็จพระพี่นางฯ ทรงศึกษาด้านเคมี รัชกาลที่ 8 ทรงศึกษาด้านนิติศาสตร์ และรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อรัชกาลที่ 9 ได้ทรงครองราชย์ ก็ได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาด้านกฏหมาย รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนสมเด็จย่าก็ทรงศึกษาในวิชาภาษาละติน ปรัชญา วรรณคดี และสันสกฤตเพิ่มเติมด้วย

มหาวิทยาลัยโลซานน์ประกอบด้วย 7 คณะ คือ

- คณะชีววิทยาและการแพทย์
- คณะเทววิทยาและศาสนศึกษา
- คณะธรณีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
- คณะนิติศาสตร์ การบริหารงานยุติธรรม และการบริหารรัฐกิจ
- คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์
- คณะสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์
- คณะอักษรศาสตร์

ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
- สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- เจ้าชายแบร์นฮาร์ดแห่งลิพเพอ-บีสเตอร์เฟลด์
- Pascal Couchepin Swiss Federal Councellor
- Bertrand Piccard จิตแพทย์และนักบอลลูน
- Edmond Pidoux กวีและนักเขียนชาวสวิส
- Charles Ferdinand Ramuz นักเขียน

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : หนังสือสวิตเซอร์แลนด์เล่มเดียวเที่ยวได้จริง โดย สิรภพ มหรรฆสุวรรณ