ปราสาทนอยชวานชไตน์ (Neuschwanstein Castle)




ปราสาทนอยชวานชไตน์ ต้นแบบปราสาทเทพนิยายเจ้าหญิงในดิสนีย์แลนด์

ปราสาทนอยชวานชไตน์ (Neuschwanstein Castle) เป็นปราสาทตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์แถบแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี สร้างในสมัยพระเจ้าลุดวิกที่ 2 แห่งบาวาเรีย ในช่วง ค.ศ. 1845-86 ถือเป็นเป็น?ปราสาทที่งดงามมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก และเป็นต้นแบบของการสร้างปราสาทเทพนิยายเจ้าหญิงนิทราที่สวนสนุกดิสนีย์แลนด์และโตเกียวดิสนีย์แลนด์รวมไปถึงที่แดนเนรมิตของไทยเราอีกด้วย

ปราสาทนอยชวานชไตน์ มีความโดดเด่นในรูปแบบและที่ตั้ง ที่สร้างจินตนาการได้มากกว่าปราสาทอื่นใดเนื่องจากตัวปราสาทมีที่ตั้งอันน่าทึ่งบนหินผาขนาดใหญ่ยักษ์สูงกว่า 200 เมตร เหนือออบแก่งของแม่น้ำพอลลัท นอกจากนี้ยังมีแวดล้อมด้วยธรรมชาติและทิวทัศน์ของป่าเขาลำเนาไพรที่สวยงามและมีสีสันแปรเปลี่ยนแตกต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล เมื่อมองจากสะพานมาเรียนที่ทอดข้ามสายน้ำเชี่ยวกรากในลำธารเบื้องล่าง

พระเจ้าลุดวิกที่ 2 กษัตริย์หนุ่มแห่งแคว้นบาวาเรีย ที่มีฉายาว่า ราชันหงส์ขาว มีพระประสงค์ให้จัดสร้างเพื่อเป็นที่ประทับอย่างสันโดษห่างจากผู้คนและเพื่ออุทิศให้แก่กวี ริชาร์ด วากเนอร์ ผู้ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างให้เป็นไปตามบทประพันธ์เรื่อง อัศวินหงษ์ (Swan Knight Lohengrin) แรงบันดาลใจจากความหลงใหล ในการชมอุปรากรและบทละคร ที่พระองค์ทรงโปรด จึงทำให้เป็นปราสาทที่วิจิตรอลังการ ภายในได้รับการตกแต่ง ตามฉากของละครตอนต่างๆ ใครที่ชื่นชอบภาพวาดฝาผนังชิ้นเอก ของริชาร์ด วากเนอร์ งานประติมากร และช่างแกะสลักไม้ฝีมือเยี่ยม ที่นี่น่าจะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้คุณเพลิดเพลิน แถมยังมีห้องบัลลังก์ ห้องบรรทม ห้องทรงดนตรี โอเปร่า ท้องพระโรง และห้องครัวที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เอาไว้ให้ชมกันด้วย?ดังนั้นปราสาทแห่งนี้จึงได้รับการตกแต่งตามเรื่องราวในบทประพันธ์ดังกล่าว

ปราสาทแห่งนี้ สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิคผสมยุคกลาง ได้รับการออกแบบโดย?คริสเตียน แยงค์ (Christian Jank) ซึ่งเป็นนักออกแบบทางการละครมากกว่าที่จะเป็นสถาปนิก มันถูกสร้างขึ้นด้วยเงินทุนมหาศาลแต่ทว่าปราสาทหลังนี้เพิ่งได้รับขนานนามว่า “นอยชวานสไตน์” ก็ต่อเมื่อหลังจากที่กษัตริย์ลุดวิกที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตแล้วในปี 1886

การสร้างปราสาทแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากในสมัยนั้นปราศจากเทคโนโลยีและเครื่องมือก่อสร้างแบบพิเศษใดๆ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาบรรจงสร้างสรรค์ล้วนมีน้ำหนักและปริมาณมากมายมหาศาลและต้องลำเลียงเคลื่อนย้ายไปสู่สถานที่ก่อสร้างปราสาทบนยอดเขาอันไกลโพ้น

วัสดุก่อสร้างหนักๆ เช่น หินอ่อน 465 ตัน หินทราย 4,550 ตัน อิฐ 400,000 ก้อน ทราย 3,600 ลูกบาศก์เมตร ซีเมนต์ 600 ตัน และสิ่งสำคัญคือการใช้ไม้เพื่อแกะสลักทั้งสิ้น 2,050 ลูกบาศก์เมตร ต้องใช้กำลังสติปัญญา แรงงานจากช่างผู้ชำนาญ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมายโดยใช้เวลาทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 17 ปี

เมื่อตอนที่เริ่มต้นก่อสร้างปราสาทนี้ กษัตริย์ลุกวิกที่ 2 ทรงมีพระชนมายุเพียง 23 พรรษา แต่ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1886 เป็นวันสุดท้ายที่กษัตริย์ลุกวิก ประทับที่ปราสาทนี้ เนื่องด้วยฝ่ายคณะรัฐบาลในขณะนั้น ได้ประกาศว่า พระองค์วิกลจริตไม่อาจสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ จึงได้ปลดออกจากราชบัลลังก์ ทำให้พระองค์ต้องแปรพระราชฐานออกจากปราสาทนอยชวานสไตน์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่โปรดปรานไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ยิ่ง และได้ย้ายไปประทับที่ ปราสาทแบร์ก (Berg) ณ ทะเลสาบสตานแบร์ก (Starnbergersee) จนกระทั่ง วันที่ 13 มิถุนายน 1886 มีคนพบพระศพของพระองค์ในทะเลสาบ ซึ่งเป็นการสวรรคตที่เป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจยิ่งนัก ที่บั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ผู้ทรงเป็นเจ้าผู้ครอบครองปราสาทที่แสนวิจิตรงดงาม จะมีจุดจบที่น่าขมขื่นเช่นนี้

ในบรรดากษัตริย์ของยุโรปทั้งหลาย ในช่วงหนึ่งร้อยปีล่วงมานี้ ชื่อของกษัตริย์ ลุดวิกที่ 2 แห่งแคว้นบาวาเรีย ดูจะเป็นชื่อที่เราคุ้นหูมากกว่าพระองค์อื่นๆ พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อยังทรงมีพระชนมพรรษาได้เพียง 18 เท่านั้น

ในปี ค.ศ.1864 ทรงได้ทุ่มเทพระวรกายและพระปรีชาสามารถทั้งมวลที่มีอยู่ ปกครองบริหารราชการแผ่นดิน แต่เนื่องจากเอกลักษณ์อันเป็นปัจเจกของพระองค์ ที่ทรงมีพระบุคลิกภาพที่รักความสงบสันโดษ พระองค์จึงทรงค้นหาความผ่อนคลาย หลังจากที่เหนื่อยล้าจากพระราชกรณียกิจทั้งมวล ทำให้ทรงเบื่อหน่ายและผละจากสังคมแห่งความเกษมสันต์รื่นรมย์ ที่แวดล้อมด้วยเสนามหาอำมาตย์ สนมกำนัลและข้าราชบริพาร แม้นว่าพระองค์จะทรงเคยได้รับการยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศ ให้เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความสำคัญ ในด้านการปกครองแห่งยุโรปมากพระองค์หนึ่ง

ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีและการละคร เป็นผู้มีความหลงใหลใฝ่ฝัน ที่จะสร้างสรรค์ปราสาทราชวังที่ประทับ อันสมบูรณ์แบบที่สุดขึ้นมา โดยในเขตแคว้นอัลไพน์ พระองค์ทรงสร้าง ปราสาทนอยชวานสไตน์ ส่วนความคลั่งไคล้ของ พระองค์ต่อโลกยุค บูร์บองแห่งฝรั่งเศส ก็ได้แสดงออกมาเป็น พระราชวังลินเดอร์โฮฟ (Linderhof ) และ พระราชวังแฮเรนคีมเซ (Herrenchiemsee) รวมทั้งหมดเป็นสามแห่งด้วยกัน

เมื่อว่างจากงานราชการแผ่นดิน พระองค์จะเสาะแสวงหาความเป็นส่วนพระองค์ ด้วยการเสด็จไปแปรพระราชฐาน ณ ปราสาทแฮเรนคีมเซ (ซึ่งสร้างขึ้นเลียนแบบ พระราชวังแวร์ซายส์ของฝรั่งเศส) และปราสาท ลินเดอร์ฮอฟ (ซึ่งสร้างขึ้นตามแบบของ พระตำหนักตรีอานอง ของฝรั่งเศสเช่นกัน)

ปัจจุบันปราสาททั้งสามแห่ง ยังคงอวดโฉมเป็นสถานที่ ที่ยังคงไม่ร้างลาจากการแวะเวียนเยี่ยมชมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก





แชร์ให้เพื่อน